สวัสดีครับ ก่อนอื่นเลย
ต้องขอแสดงความยินดีกับน้องๆ อาสายุวกาชาดทั้ง 20
คนที่ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้แทนยุวกาชาดเพื่อไปร่วมกิจกรรมกาชาดและยุวกาชาดในต่างประเทศ
ประจำปี 2558 แต่สำหรับคนที่ไม่ได้ ไม่เป็นไร สู้ต่อไปครับ
การคัดเลือกผู้แทนยุวกาชาดฯ ครั้งนี้ จัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2558 ณ
ห้องประชุมพันธุ์ทิพย์ 3 ชั้น 9 อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ
ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย โดยมีอาสายุวกาชาดสมัครเข้ารับการคัดเลือก
44 คน จาก 24 สถาบันการศึกษา
การคัดเลือกผู้แทนยุวกาชาดฯ
ในปีนี้ ต่างจากปีอื่นๆ ที่ผ่านมา
ซึ่งในปีนี้มีเน้นการสื่อสารภาษาอังกฤษมากเป็นพิเศษ เพื่อต้อนรับ AEC ปลายปีนี้
ก่อนอื่นจะขอเล่ารูปแบบการคัดเลือกของปีที่ผ่านๆ มาก่อนครับ
การคัดเลือกผู้แทนยุวกาชาดฯ ในอดีต
แบ่งกิจกรรมการคัดเลือกออกเป็น 4 สถานีกิจกรรม ได้แก่ การแสดงความสามารถพิเศษ
การนำเสนอผลงานการร่วมกิจกรรมกาชาด-ยุวกาชาด
ยุวกาชาดไทยไปต่างประเทศ และโลกของกาชาด-ยุวกาชาด แต่ในปี 2558 นี้
สำนักงานยุวกาชาดได้ปรับรูปแบบของกิจกรรมการคัดเลือกใหม่โดยแบ่งออกเป็น 3
สถานีกิจกรรม ได้แก่ สถานีกิจกรรมพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย กิจกรรมกลุ่มโดยการจำลองเหตุการณ์(Scenario)
และการนำเสนอผลงานการเข้าร่วมกิจกรรมกาชาด-ยุวกาชาดรายบุคคลเป็นภาษาอังกฤษ
โดยจะแบ่งอาสายุวกาชาดเป็นกลุ่ม กลุ่มละ 6-7 คนครับ เน้นความร่วมมือในการทำงานเป็นกลุ่ม
สถานีที่ 1 พิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทย
เมื่ออาสายุวกาชาดลงทะเบียน
เข้ารับฟังการชี้แจงรายละเอียดของการคัดเลือก ณ ห้องประชุมจุมภฎ 1 ชั้น 9
อาคารเฉลิมพระเกียรติบรมราชินีนาถ ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ แล้ว
สมาชิกแต่ละกลุ่มจะเดินลงมาด้วยกันไปยังสถานีกิจกรรมพิพิธภัณฑ์สภากาชาดไทยเพื่อช่วยกันหาข้อมูลเพื่อตอบคำถามต่างๆ
ลงในสมุดกิจกรรม
ซึ่งคำตอบนั้นผู้เข้าร่วมโครงการต้องศึกษาและค้นคว้าจากพิพิธิภัณฑ์สภากาชาดไทยเท่านั้นครับ
ความสนุกอยู่ตรงนี้ครับ คือไม่มีคำตอบอยู่ใน Google ครับ และไม่สามารถหาได้จากเว็ปไซต์ใดๆ สำหรับกลุ่มที่หาคำตอบได้ครบทุกข้อ
ก็จะรีบกลับขึ้นไปรายงานตัว ณ จุดลงทะเบียนเพื่อร่วมกิจกรรมต่อไป
สถานีที่ 2 กิจกรรมจำลองเหตุการณ์ (Scenario)
กิจกรรมนี้จะต้องใช้ทักษะภาษาอังกฤษอยู่บ้างโดยแต่ละกลุ่มจะส่งผู้แทนออกมาจับสลากซองเหตุการณ์สมมติ
ที่เป็นภาษาอังกฤษซึ่งมีคำถามให้อภิปราย ระดมสมองเพื่อหาคำตอบ
แล้วนำเสนอด้วยเทคนิควิธีการใดก็ได้ ภายในเวลาไม่เกินกลุ่มละ 5 นาที
โดยแต่ละกลุ่มจะมีเวลาพูดคุยปรึกษาหารือกัน 10
นาทีจากนั้นจึงมาฟังสถานการณ์ของกลุ่มอื่นๆ
การลุ้นระทึกได้เกิดขึ้นอีกครั้งเมื่อบางกลุ่มที่ได้สถานการณ์เดียวกันแต่แปลข้อมูลออกมาไม่เหมือนกันทำให้หลายคนกังวลกับภาษาอังกฤษ
เป็นการอุ่นเครื่องเล็กๆน้อยๆก่อนที่จะไปเข้าร่วมในกิจกรรมถัดไปซึ่งจะต้องใช้ภาษาอังกฤษให้สุดความสามารถของตนเอง
ซึ่งน้องๆ แต่ละคนได้นึกถึงสัจธรรมที่ว่า “ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน”
สถานีที่ 3 การนำเสนอผลงานการเข้าร่วมกิจกรรมกาชาด-ยุวกาชาดเป็นภาษาอังกฤษ
สถานีสุดท้ายที่จะตอบโจทย์ในใจของแต่ละคนว่า “คุณจะมีโอกาสได้ไปเข้าร่วมกิจกรรมในต่างประเทศหรือไม่”
โดยแต่ละคนจะใช้เวลาในการนำเสนอผลงานการทำกิจกรรมกาชาด-ยุวกาชาดที่ผ่านมา
เป็นภาษาอังกฤษ คนละ 5 นาที
สถานีนี้เราได้เชิญคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านภาษาอังกฤษมา 3 ท่าน
โดยผู้เข้ารับการคัดเลือกจะเข้าไปทีละคน
ผมเชื่อว่าการนำเสนอเป็นภาษาอังกฤษนั้นผ่านไปด้วยความราบรื่นเพราะแต่ละคนเตรียมตัวมาอย่างดี
แต่สิ่งที่ทำให้ทุกคนต้องลุ้นระทึกอีกครั้งก็คือข้อคำถามของคณะกรรมการที่สัมภาษณ์กัน
ณ วินาทีนั้น
นั่นหมายถึงการแสดงปฏิภาณไหวพริบ ความรู้ ความสามารถ
และทักษะการใช้ภาษาอังกฤษของตนเองอย่างเต็มที่ ครับ
เป็นอย่างไรบ้างครับ แนวทางคร่าวๆ ที่ได้นำมาเล่าสู่กันฟังอาจจะจุดประกายให้น้องอาสายุวกาชาดหลายๆ คนที่มีจิตอาสาและทำกิจกรรมมามากมายได้กลับมาฝึกภาษาอังกฤษวันละนิด เพื่อเตรียมตัวเข้ารับการคัดเลือกในปีต่อๆ ไป สำหรับใครที่อ่าน แล้วยังไม่ได้เป็นอาสายุวกาชาด ศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Thaircy.redcross.or.th หรือโทร 02 252 5002-3 กด 1 ภาพเพิ่มเติม หรือ ติดตามกิจกรรมต่างๆ ของอาสายุวกาชาดได้ที่ www.facebook.com/trcyvolunteer
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น